วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการวิจัย/ประเมินทั่ว ๆ ไป

ผู้เขียน
พิชัย แก้วคำดี
ศึกษานิเทศ สพท.ปราจีนบุรีเขต 1
ความนำ
ในการวิจัย/ประเมินทั่ว ๆ ไปมักจะพบปัญหา ข้อจำกัดและข้อที่ควรได้รับการปรับปรุงในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การวางแผนการบริหารและการจัดการประเมิน การประยุกต์ใช้โมเดลประเมินการออกแบบการวิจัย/ประเมิน การกำหนดกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย/ประเมิน การนิยามตัวแปร/การกำหนดตัวบ่งชี้ของ
ตัวแปรที่ศึกษา การวัดตัวแปร/ตัวบ่งชี้ และเครื่องมือที่ใช้ในการวัด การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนรายงาน ซึ่งในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้นับเรื่องสำคัญที่ผู้วิจัย/ประเมินจะต้องตระหนัก
พึงระมัดระวังเพื่อให้ผลงานมีคุณภาพหรือบกพร่องน้อยที่สุด ดังนั้น จึงได้นำเสนอประเด็นปัญหาในแต่ละด้านตามลำดับ ดังนี้
การวางแผนการบริหารและการจัดการประเมิน
ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการวิจัย/ประเมิน ในด้านการวางแผนการบริหารและการจัดการประเมินนั้นมี
ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ คน ระบบและการจัดการ เป็นปัจจัยที่ทำให้การวิจัย/ประเมินประสบผลสำเร็จ กล่าวคือ
1. คน จะเกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำ ทัศนคติและทักษะ และทำงานเป็นทีม ผู้บริหาร จะต้องมีภาวะผู้นำ ผู้บริหารจะต้องเป็นแกนหลักที่สำคัญ เป็นผู้นำในการบริหารจัดการ ส่งเสริม สนับสนุนและประสานให้เกิดการทำงานเป็นทีม และสร้างภาวะผู้นำในงานหรือตามบทบาทหน้าที่ สร้างทัศนคติและทักษะแก่ทีมงาน กำหนดทีมผู้รับผิดชอบระบบย่อยเพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางแผนกันทำงาน ออกแบบการประเมิน แล้วช่วยกันทำและพัฒนาปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าทำได้จะส่งผลให้การทำงานเป็นทีมมีความเข้มแข็ง
2. ระบบ จะเกี่ยวข้องกับคู่มือระบบ ระบบมีคุณภาพและขอบข่ายความรับผิดชอบ การดำเนินงาน
ที่มีประสิทธิภาพต้องมีคู่มือระบบที่มีขั้นตอน วิธีการที่ชัดเจน และเกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร ในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง เรียบร้อย จะต้องมีระบบหรือขั้นตอนที่ดี จึงจะเชื่อได้ว่าผลงานที่เกิดขึ้น
มีคุณภาพ ระบบที่ดีต้องกำหนดขอบข่ายความรับผิดชอบของแต่ละคนไว้อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเมื่อลงมือปฏิบัติ
3. การจัดการ จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การกำกับติดตามและความร่วมมือของทุกคนการสื่อสาร
นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการระบบการประเมิน เพราะการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและเป็นการสื่อสารเชิงบวก จะเป็นการเสริมสร้างพลังร่วมในการทำงานตามระบบและกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ในการบริการและจัดการประเมินนั้น จะต้องมีการวางแผนและการกำกับติดตามอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อรายงานความก้าวหน้างานที่ทำไปแล้ว และช่วยกันพัฒนางานที่จะทำต่อไป การวางแผนบริหารและการจัดการประเมินให้ประสบผลสำเร็จนั้น ความร่วมมือและการมีส่วนร่วม
2

เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น จึงต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดความร่วมมือในองค์กร เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบและจะนำไปสู่การทำงานเป็นทีมต่อไป
เตือนใจ เกตุษา (2546 : 102 - 106) ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการวางแผนการบริหารจัดการในการประเมินว่ามีปัญหาในสองลักษณะ คือ เกิดจากองค์ประกอบภายในและเกิดจากองค์ประกอบภายนอก
1. ปัญหาที่เกิดจากการวางแผนบริหารจัดการในการประเมิน ที่เกิดจากองค์ประกอบภายใน ดังนี้
1.1 ปัญหาของการกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน กำหนดวัตถุประสงค์กว้างเกินไปไม่ชัดเจน บางครั้งกำหนดมีหลายวัตถุประสงค์ทำให้เกิดความยากลำบากในการตัดสินใจเลือกวัตถุประสงค์ต่าง ๆ และในบางครั้งวัตถุประสงค์ไม่สามารถวัดได้ในเชิงปริมาณ ซึ่งอาจก่อ
ให้เกิดปัญหาในการแปลความหมายได้
1.2 ปัญหาของคณะผู้ทำหน้าที่ประเมิน ความเชี่ยวชาญ ความพร้อมและความร่วมมือของคณะผู้ทำหน้าที่ประเมิน มีความสำคัญมากต่อการบริหารจัดการในการประเมิน หากคณะผู้ทำหน้าที่ประเมินไม่มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ขาดประสบการณ์ในเทคนิคการบริหารจัดการในการประเมินหรือมีอคติต่อโครงการหรือหน่วยงานที่ประเมิน ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการบริหารและการจัดการในการประเมิน นอกจากนี้ ในการเขียนรายงานผลการประเมินที่เป็นไปในทิศทางที่ไม่สร้างสรรค์ อาจเกิดการต่อต้านและการไม่ยอมรับผลการประเมินจากหน่วยงาน/ผู้รับผิดชอบโครงการที่ถูกประเมิน
1.3 ปัญหาการกำหนดทางเลือกที่ใช้ในการบริหารจัดการในการประเมิน สิ่งแรกในการประเมิน คือ การกำหนดวัตถุประสงค์/จุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร เมื่อทราบวัตถุประสงค์แล้ว ผู้วางแผนจะดำเนินการเลือกเทคนิควิธีการบริหารจัดการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น คือ ผู้วางแผนไม่สามารถมั่นใจว่าเทคนิควิธีการบริหารจัดการหรือกิจกรรมสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีอะไรบ้าง และควรเลือกใช้เทคนิค หรือกิจกรรมใดจึงจะสามารถนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
1.4 ปัญหาเรื่องการวางแผนและเตรียมการประเมินของหน่วยงาน หากหน่วยงานขาดการวางแผนและเตรียมการประเมิน อาจมีผลทำให้การประเมินขาดประสิทธิภาพหรือในบางครั้งหน่วยงานอาจถูกละเลยไม่ได้รับการประเมิน นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการขาดการประสานงานที่ดีของหน่วยงานก็เป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้น
เสมอและจะเป็นอุปสรรคต่อการประเมิน
2. ปัญหาที่เกิดจากการวางแผนบริหารจัดการในการประเมิน ที่เกิดจากองค์ประกอบภายนอก ดังนี้
2.1 ปัญหาความสนับสนุนจากฝ่ายจากฝ่ายบริหาร ในการประเมินใด ๆ หากขาดการสนับสนุนของฝ่ายบริหารในด้านต่าง ๆ เช่น กำลังคน งบประมาณ ความร่วมมือ หรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้การบริหารจัดการในการประเมินมีปัญหา/อุปสรรค หากแก้ไขไม่ได้ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจ
3

ทำให้การประเมินประสบความล้มเหลวได้ อีกประการหนึ่ง เจตคติของฝ่ายบริหารต่อการประเมิน หากฝ่ายบริหารมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการประเมินแล้วโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จะมีน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในการประเมินโดยตรง
2.2 ปัญหาเจตคติและความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน ในกรณีหากกลุ่มผู้ประเมินและผู้ใช้ผลการประเมินมีความเข้าใจ มีเจตคติที่ดีต่อการประเมิน และมีความเชื่อมั่นในผลที่จะได้จากการประเมิน ก็จะส่งผลต่อการให้ความร่วมมือหรือการร่วมมือในการดำเนินงานประเมิน หากกลุ่มผู้ประเมินและผู้ใช้ผลการประเมินมีเจตคติที่ไม่ดี หรือมีอคติต่อการประเมินจะส่งผลให้เกิดปัญหาและอุปสรรคทั้งทาง ด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลและการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ
2.3 ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้การดำเนินการบริหารจัดการในการประเมินเกิดปัญหาได้ในภาวะที่ประเทศชาติประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่องบประมาณที่จัดสรรให้กับการบริหารและการจัดการประเมินโดยตรง ปัญหาทางด้านการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารการจัดการประเมินโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากนักการเมือง ซึ่งอาจมีบางกลุ่มไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ก็อาจจะคัดค้านหรือไม่สนับสนุนหรือไม่อำนวยความสะดวกในกิจกรรมใด ๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารจัดการในการประเมิน
การประยุกต์ใช้โมเดลประเมิน
สิริรัตน์ วิภาสศิลป์ (2545 : 62 - 63) ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์
ใช้โมเดลประเมินไว้ว่า การที่ผู้ประเมินเลือกใช้รูปแบบการประเมินไม่เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการประเมิน โดยการเลือกใช้รูปแบบการประเมิน CIPP (Context – Input – Prosess – Output Approach) ในการประเมินโครงการที่ดำเนินการสิ้นสุดไปแล้ว โดยคิดว่าการประเมินโครงการต้องเลือกใช้รูปแบบการประเมินที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่ไม่ได้คำนึงว่ารูปแบบการประเมิน CIPPนั้นใช้ในการประเมินบริบท ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการผลิตและผลผลิต เพื่อช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจเลือกเป้าหมาย จุดมุ่งหมายโครงการ การดำเนินงาน การกำหนดยุทธวิธีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีให้มีความเหมาะสมมากกว่าที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการคงอยู่ของโครงการหรือการยกเลิกโครงการ รูปแบบการประเมินดังกล่าวควรใช้ก่อนเริ่มโครงการ ระหว่างที่โครงการดำเนินการ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ การนำไปใช้กรณีที่โครงการสิ้นสุดไปแล้วเป็นการประเมินองค์ประกอบต่าง ๆ ย้อนหลัง ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้เสนอรูปแบบการประเมิน
การออกแบบการวิจัย/ประเมิน
การออกแบบการวิจัย/ประเมิน เป็นการวางแผนเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินโดยครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการประเมิน ตัวบ่งชี้ของการประเมิน แหล่งข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ แนวทางการรวบรวมข้อมูล แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล และเกณฑ์การตัดสินผลการประเมิน ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล
4

สารสนเทศที่จะตอบคำถามของการประเมินได้ถูกต้อง และช่วยให้ผู้ประเมินมองเห็นแนวทางของการประเมินที่ชัดเจนและตรงกัน
ปัญหาที่พบในการออกแบบการประเมิน จะครอบคลุมองค์ประกอบของการออกแบบการประเมินทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ
1. การออกแบบการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ไม่ชัดเจน ไม่ทราบว่ามีใครบ้างเป็นผู้ให้ข้อมูล หรือแหล่งข้อมูลคือใคร เป็นประชากร หรือกลุ่มตัวอย่าง มีวิธีการเลือกอย่างไร
2. การออกแบบเครื่องมือวัด เลือกใช้เครื่องมือไม่สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการประเมินหรือตัวบ่งชี้ที่ต้องการวัด และยังไม่ชัดเจนในการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
3. การออกแบบสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ขาดความชัดเจนในการเลือกใช้สถิติที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ

การกำหนดกรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย/ประเมิน
กรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย สุวิมล ว่องวานิชและนงลักษณ์ วิรัชชัย (2550 : 170 - 174) กล่าวไว้ว่า กรอบความคิดสำหรับการวิจัย หมายถึง โมเดลแสดงความสัมพันธ์ตามทฤษฎีระหว่างตัวแปรที่นักวิจัยศึกษา นักวิจัยสร้างกรอบความคิดจากการทบทวนวรรณคดี ทฤษฎี และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นภาพจำลองหรือตัวแทนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ แต่ในทางปฏิบัติ กรอบความคิดสำหรับการวิจัยไม่สอดคล้องตรงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะองค์ความรู้ในสาขานั้นยังไม่มีพอที่จะสร้างกรอบความคิดให้สมบูรณ์ หรือเพราะนักวิจัยกำหนดขอบเขตของการวิจัยไว้ไม่กว้างเท่าที่ควรจะเป็นตามสภาพความเป็นจริง ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างกรอบความคิดกับสภาพที่เป็นจริงนั้น หากไม่สามารถทำได้/ไม่สามารถแสดงได้/ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความสอดคล้องกัน แต่มีความสำคัญต่อกรอบความคิด ส่วนนั้นคือสิ่งที่ต้องกำหนดเป็นข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างกรอบความคิดกับสภาพที่เป็นจริงนั้น หากสามารถทำได้แสดงว่ากรอบความคิดและสภาพที่เป็นจริงสอดคล้องกัน แต่นักวิจัยไม่ได้ทำ ส่วนนั้นคือสิ่งที่ต้องกำหนดเป็นข้อจำกัดของการวิจัย ถ้าเป็นข้อความที่ขาดเหตุผลสนับสนุนอาจทำให้เกิดส่วนแตกต่างระหว่างกรอบความคิด และสภาพที่เป็นจริงที่ต้องกำหนดเป็นข้อจำกัดของการวิจัยด้วย
การนิยามตัวแปร/การกำหนดตัวบ่งชี้ของตัวแปรที่ศึกษา
นิยามตัวแปร/การกำหนดตัวบ่งชี้ของตัวแปรที่ศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นต้องนิยาม อธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกัน คำศัพท์ที่เอามานิยามควรเป็นคำสำคัญที่ผู้วิจัยใช้ในความหมายเฉพาะสำหรับการวิจัยเท่านั้น หากเป็นคำศัพท์ที่มีความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจตรงกันก็ไม่จำเป็นต้องนิยาม ปัญหาที่พบในการเขียนนิยามตัว
แปรคือการตัดคำสำคัญออกเป็นส่วน ๆ เมื่อแยกกันสาระสำคัญของตัวแปรจะหายไป ที่ถูกต้องควรให้
5

ความหมายของตัวแปรนั้นให้เต็มทั้งคำ และที่สำคัญนิยามตัวแปร/ตัวบ่งชี้ต้องสามารถวัดได้
การวัดตัวแปร/ตัวบ่งชี้และเครื่องมือที่ใช้ในการวัด
ปัญหาการวัดตัวแปร/ตัวบ่งชี้และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดนั้น กาญจนา วัธนสุนทร (2545 : 143 - 149) ได้กล่าวถึงปัญหาการออกแบบเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้
1. ปัญหาด้านการออกแบบเครื่องมือวัด
1.1 การออกแบบเครื่องมือวัดมักไม่ค่อยอาศัยการจัดทำกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีซึ่งปกติควรได้จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์วรรณกรรม จึงทำให้การวัดตัวแปรไม่ได้แสดงหลักฐานในการนิยามตัวแปรหรือการพัฒนากรอบแนวคิด ในการวัดตัวแปรในการศึกษาหรือการประเมินของตน ประเภทเครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นแบบสอบถาม ซึ่งผู้ประเมินไม่ได้แสดงให้เห็นความตระหนักว่ามีความคลาดเคลื่อนของการวัดสูง นอกจากนี้นิยมใช้มาตรประเมินค่า ใช้แบบวัดไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะที่วัดและขาดความชัดเจน
1.2 ข้อคำถาม/ข้อความหรือข้อกระทงที่ใช้ ข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถามมักใช้ข้อคำถามที่ลอกแบบกันมา โดยไม่เข้าใจความหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการถาม ข้อคำถามมีมากเกินไป ไม่สะดวกกับการตอบและไม่เหมาะสมกับลักษณะกลุ่ม นอกจากนี้ใช้คำถามที่ไม่มีประเด็นหรือถามกว้างเกินไป
1.3 การวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือ การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือก่อนใช้ มักทำตามธรรมเนียมที่ทำกันมา ไม่มีหลักฐานอ้างอิงในผลการตรวจสอบหรือผลการวิเคราะห์การตรวจสอบ
1.4 การกำหนดเกณฑ์การแปลความหมายผลการวัด มักทำตามกันมาโดยไม่เข้าใจ ทำให้การใช้ค่าสถิติผิดพลาดไม่เหมาะสมกับการวัดตัวแปร นอกจากนี้ ยังมีการใช้เกณฑ์ที่กำหนดเองโดยไม่เหมาะสมกับการวัด
2. ปัญหาด้านการเก็บรวบรวมข้อมูล
2.1 แหล่งข้อมูล ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องจำนวนแหล่งข้อมูลที่ควรใช้ในการทดลอง ขาดความรู้ความเข้าใจในการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง
2.2 การนำเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลไปใช้ ไม่ให้ความสำคัญในการระบุขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่คำนึงถึงการเก็บข้อมูลให้มีคุณภาพ ไม่บรรยายการทดลองใช้เครื่องมือ
2.3 การตรวจสอบข้อมูล ไม่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความสำคัญของการได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่แสดงให้เห็นว่าได้มีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของข้อมูลที่ได้มาอย่างไร
การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล
1. ปัญหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการประเมิน บุญมี พันธุ์ไทย (2545 : 198) ได้กล่าวสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้
6

1.1 การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูล วิธีการทางสถิติแต่ละวิธีจะมีข้อ ตกลงเบื้องต้นหรือเงื่อนไขในการใช้ แต่ผู้ประเมินมักไม่คำนึงถึงในเรื่องนี้ ทำให้ไม่ถูกต้องตามผลการวัดในงานประเมินของตน
1.2 การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับการกระจายของข้อมูล บางครั้งข้อมูลกระจายเบ้ไปทางขวาหรือเบ้ไปทางซ้ายมาก ๆ การที่จะหาค่าเฉลี่ยเพื่อใช้เป็นตัวแทนของข้อมูลในชุดนั้นก็จะไม่เหมาะสม ควรใช้ค่ามัธยฐานหรือค่าฐานนิยม เป็นตัวแทนของข้อมูลจะเหมาะสมกว่า
1.3 การใช้สถิติไม่เหมาะสมกับขนาดของกลุ่มตัวอย่าง บางครั้งกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กมาก ทำให้การแจกแจงของข้อมูลไม่เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติอ้างอิงประเภทพาราเมตริกที่จะใช้ทดสอบ แต่ผู้ประเมินก็ยังเลือกใช้สถิติประเภทพาราเมตริก แทนที่จะใช้ประเภทนอนพาราเมตริกที่มีข้อตกลงหรือเงื่อนไขในการใช้ไม่ยุ่งยากเหมือนพาราเมตริก
1.4 การใช้สถิติไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการ การประเมินโครงการบางครั้งผู้ประเมินต้องการบรรยายข้อมูลหรือตัวแปรอย่างเดียว ไม่ต้องการที่จะเปรียบเทียบข้อมูล ก็สามารถใช้สถิติบรรยายอย่างเดียว แต่มีผู้ประเมินบางท่านเจาะจงที่จะใช้สถิติอ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ประเมิน เช่น t – test หรือ ANOVA โดยมีความคิดว่า การใช้สถิติประเภทนี้ทำให้ผลการประเมินมีคุณภาพซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง
2. ปัญหาการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลการประเมิน บุญมี พันธุ์ไทย (2545 : 199)
ได้สรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้
2.1 การนำเสนอผลการประเมินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน
2.2 การเสนอผลการประเมินไม่เสนอผลเรียงตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ที่จะใช้ผลการประเมินสับสน
2.3 การเสนอตารางไม่เหมาะสม
2.4 การแปลผลจากตาราง ผู้ประเมินบางคนบรรยายค่าสถิติทุกค่าในตารางจึงทำให้ยืดเยื้อหรือยาวเกินไปไม่น่าอ่าน
2.5 การแปลผลผิดโดยเฉพาะการแปลผลจากสถิติทดสอบ หรือสถิติเปรียบเทียบที่วิเคราะห์โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บางครั้งแปลผลไม่สมบูรณ์หรือไม่สิ้นสุด
2.6 เสนอเนื้อหารายละเอียดของผลการประเมิน โดยไม่คำนึงถึงลักษณะและความ
สามารถของผู้อ่านและผู้ใช้ผลการประเมิน
2.7 การเสนอผลการประเมินควรเสนอต่อผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการปรับปรุงโครงการหรือยุบเลิกโครงการ
การเขียนรายงาน
การเขียนรายงาน ประเด็นปัญหาที่พบในการเขียนรายงาน มีดังนี้
7

1. หัวเรื่องที่นำเสนอไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของการวิจัย
2. เขียนรายงานไม่เป็นไปตามรูปแบบที่สถาบันกำหนด
3. ใช้สำนวนไม่เหมาะสมและยากต่อการทำความเข้าใจ
4. ไม่คำนึงถึงหลักทางวิชาการในการนำเสนอ
5. ใช้คำหรือภาษาในรายงานการวิจัยไม่คงที่และไม่เสมอต้นเสมอปลาย
6. ในรายงานตอบคำถามการวิจัยไม่ครบถ้วน






บรรณานุกรม
กาญจนา วัธนสุนทร (2545) “สัมมนาการออกแบบเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวม
ข้อมูล” ในประมวลสาระชุดวิชา สัมมนาการประเมินการศึกษา เล่มที่ 1
หน่วยที่ 4 นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เตือนใจ เกตุษา (2545) “สัมมนาการวางแผนการบริหารและการจัดการในการประเมิน”
ในประมวลสาระชุดวิชา สัมมนาการประเมินการศึกษา เล่มที่ 1 หน่วยที่ 3
นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บุญมี พันธุ์ไทย (2545) “สัมมนาการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอและการใช้ผลการ
ประเมิน” ในประมวลสาระชุดวิชา สัมมนาการประเมินการศึกษา เล่มที่ 1
หน่วยที่ 5 นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (2546) “ToPSTAR เอกสารประกอบการประชุม
ปฏิบัติการผู้บริหารและทีมคุณภาพของโรงเรียน” : กรุงเทพมหานคร (อัดสำเนา)
สิริรัตน์ วิภาสศิลป์ (2545) “สัมมนาการปัญหาและทิศทางการประเมิน” ในประมวลสาระ
ชุดวิชา สัมมนาการประเมินการศึกษา เล่มที่ 1 หน่วยที่ 2 นนทบุรี : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สุวิมล ว่องวานิชและนงลักษณ์ วิรัชชัย (2550) “แนวทางการให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์”
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1 ความคิดเห็น:

  1. JAMI SLOT BONUS - JSM Hub
    JAMI SLOT BONUS. JAMI SLOT BONUS. JAMI SLOT BONUS. SLOT 논산 출장마사지 BONUS. 광양 출장안마 JAMI SLOT BONUS. JAMI 울산광역 출장샵 SLOT BONUS. 군산 출장마사지 JAMI SLOT BONUS. JAMI SLOT BONUS. JAMI SLOT BONUS. 군산 출장샵 JAMI SLOT BONUS.

    ตอบลบ